Thursday, May 13, 2010

ถึงปากอูและหลวงพะบาง




จากเที่ยงและอีก 5 ชั่วโมงบนเรือ ในที่สุดก็จบทริปล่องน้ำอูตลอดสายลงใต้จนถึง "เมืองหลวง" หรือหลวงพะบางลงได้ น้ำอูมาบรรจบกับโขงที่ตรงถ้ำปากอูพอดี คำว่า "ปาก" หมายถึง "ปากน้ำ" ที่แม่น้ำสายเล็กมาเจอสายใหญ่ เหมือนที่ทางเหนือเรียกว่า "สบ" วิธีการเรียกปากน้ำแบบนี้เหมือนกับในภาษาจีนกลาง ที่ใช้ "โข่ว" ซึ่งแปลว่า "ปาก" เหมือนกัน อย่างเมืองเหอโข่ว ในฝั่งจีน ตรงข้ามจังหวัดหลาวกายของเวียด นั่นก็มีความหมายตรงๆ ว่าปากน้ำ





แดดคล้อยมากแล้ว และวิวโขดหิน เกาะแก่งในน้ำโขงในแสงสีเหลืองยิ่งดูสวยเป็นพิเศษ ยิ่งปีนี้เป็นปีแล้งประวัติการณ์ของภูมิภาคนี้ ยูนนานแล้งที่สุดในรอบหกสิบปี ยิ่งทำให้แก่งหิน สูงขึ้นเหนือน้ำเป็นภาพแปลกตาที่ไม่ต้องบรรยาย

Wednesday, May 12, 2010

ไฟฟ้าพลังน้ำอู




ล่องเรือจากหนองเขียว มาต่อบนเส้นทางหลวงพระบางก็ได้เห็นภาพอุปกรณ์หน้าตาประหลาดที่หลายคนอาจไม่เคบเห็นมาก่อน ด้านบนมีตัวหมุน พยุงด้วยมัดไม้ไผ่ให้ลอยน้ำได้ ส่วนด้านล่างใต้น้ำน่าจะมีใบพัดหรือกังหันที่เพิ่มแรงฉุดจากสายน้ำ ให้หมุนตัวปั่นไฟ เกิดเป็นไฟฟ้าพลังน้ำขึ้นมา แล้วมีสายไฟโยงไปที่ฝั่ง หมู่บ้านไหนที่ห่างไกลจะมีอุปรณ์ที่ว่าใช้งานกัน เห็นเป็นระยะตามน้ำอู ยิ่งหมู่บ้านใหญ่ยิ่งมีหลายตัวใช้งาน

Monday, May 10, 2010

แนวเขาในสายหมอกที่เมืองงอย



เมืองงอย Maung Ngoi ยามเช้าต้อนรับนักเดินทางด้วยสายหมอกเบาบางล้อมโอบพาดผ่านเทือกเขาหินปูนที่ตั้งสูงอยู่รอบด้าน สายน้ำอูเลือกที่จะไหลผ่านมามุมนึงที่สวยที่สุดในเมืองลาว จิบกาแฟตอนเช้า ชิลเอาท์กับบรรยากาศสบายๆ

ช่วงสี่ห้าปีหลัง จากเดิมที่เป็นเพียงหมู่บ้านชายน้ำธรรมดา ที่นี่เริ่มกลายเป้นจุดแวะบนเส้นทางแบ็คแพ็คเกอร์ เพราะมาจากหนองเขียวแค่นั่งเรือหนึ่งชั่วโมง กับค่าเรือยี่สิบพันกีบเท่านั้น

สายหน่อยจะต่อเรือไปหนองเขียว แล้วหาเรือล่องต่อไปถึงปากอู

Saturday, May 8, 2010

ท่อนสองน้ำอู จาก Muang Khua สู่ เมืองงอย Muang Ngoi



ท่อนสองน้ำอู จาก Muang Khua สู่ เมืองงอย Muang Ngoi

บ่ายสามกว่าๆ พอเรือตัดคุ้งน้ำโผล่ออกมาอีกทีก็เจอเข้ากับ Muang Khua ที่เป็นจุดข้ามแพคึกคักของบรรดารถราที่จะข้ามน้ำอูแล้วมุ่งต่อไปตามถนนสายสี่ไปเข้าเวียดนามบนเส้นทางสู่เดียนเบียนฟู- Dien Bien Phu

แผนเดิมคือพักที่นี่ แล้วจับรถต่อไปเดียนเบียน ค่ารถก็ราวสามหมื่นกว่ากีบจากที่ถามๆ กันมา แต่แค่เอากระเป๋าลงจากเรือ ก็เจอเข้ากับฝรั่งกรุ๊ปใหญ่ที่วางแผนจะล่องเรือจากที่นี่ ไป เมืองงอย Muang Ngoi ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งชิลเอาท์วิวงามของฝรั่งแบ็คแพ็คเกอร์

เดี๋ยวนี้เรือกว่าจะครบคนโดยสารออกแต่ละเที่ยวก็หายาก เจอแบบนี้ต้องรีบคว้าโอกาสเอาไว้ ไม่ถึงห้านาทีที่เหยียบหาดก็รีบกระโดดขึ้นเรือลำใหม่ทันที ความคิดแล่นวาบ ถึงโอกาสที่เล็งมานานว่าจะล่องน้ำอู –Nam Ou ครบสายจากเหนือสุด ไปออกแม่น้ำโขง ที่ตรงหน้าวัดถ้ำปากอู แถวหลวงพระบาง กินระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ฝันนี้จะได้เป็นจริงเสียที แผนเดิมที่จะเข้าเวียดก็เปลี่ยนจังหวะในนาทีสุดท้าย แบบไม่ได้ตั้งใจ



น้ำอูช่วงนี้ กว้าง และสงบขึ้น ตลิ่งยังสูง แต่คุ้งน้ำกว้างขึ้นกว่าเดิม เรือวิ่งไปเรื่อยๆ ลุ้นเวลาว่าจะถึงเมืองงอยกี่โมง เพราะออกจากเมืองขวัวมาก็บ่ายคล้อยเต็มทน ช่วงเย็นเรือก็วิ่งเข้าเขตภูเขาหินปูน ลำน้ำอูกัดเซาะสองฝั่งเขาหินปูนเหมือนอยู่ฮาลองเบย์ หรือพังงา ในแสงสุดท้ายจางๆ ก็เห็นเมืองงอยอยู่ตรงหน้า เป็นแสงไฟจากร้านอาหารและเกสต์เฮาส์เรียงรายริมฝั่ง ความรู้สึกเหมือนกลับสู่อารยธรรมยังไงอย่างงั้น

ตลาดริมน้ำ


ตลาดริมน้ำ

ไม่ใช่บ้านร้าง หรือหมู่บ้านผีสิง แต่เป็นตลาดนัดริมน้ำอู ที่แลกเปลี่ยนสินค้า ขายของ พ่อค้าแม่ค้าจะขึ้นล่องมาทางเรือ ส่วนหมู่บ้านไกลๆ ริมฝั่งจะเอาของจากข้างในมาขาย แล้วซื้อของใช้จากโลกภายนอกกลับไป สมัยก่อนที่ยังไม่มีถนน น้ำอูคือเส้นทางหลักของลาวเหนือเส้นนึง และทำให้ “หลวงพะบาง” ที่อยู่ปากน้ำอู มีความสำคัญในแง่การคุมชุมทางขนส่งในเส้นน้ำอูทั้งหมด

Thursday, May 6, 2010

ล่องเรือผ่านป่าสู่ เมืองขัวว

ล่องเรือผ่านป่าสู่ เมืองขัวว





น้ำอู ช่วงจากหาดสา ในพงสาลีพาเราเลาะลัดโค้งไปมาลงใต้ไปที่ “เมืองขวัว” สองข้างทางคือป่า สลับระยะด้วยหมู่บ้านบุกเบิกใหม่มาตั้งแซม พร้อมกับร่องรอยถางป่าทำไร่ แต่ที่ไม่ขาดเลยสองข้างทางคือกองหินโขดหินสลับซับซ้อนเรียงรายตลอด ช่วงไหนที่พื้นน้ำด้านล่างเป็นหิน และตื้น สายน้ำจะวิ่งผ่านเร็ว เชี่ยวกราก เรือลำเล็กต้องเร่งเครื่องล่วงหน้าก่อนทิ้งหัวเรือลงแก่ง น้ำกระเซ็นสาดเข้ามาเป็นฝอยจนเปียกปอน




คนขับเรือ อารมณ์ดีแวะซื้อปลาจากชาวประมงเป็นระยะ ที่ได้มากสุดคือปลาแข้ หน้าตาน่ารักน่าชังที่เห็นในรูป ส่วนขนาดว่า “หย่าย” แค่ไหนก้เทียบเอากับสเกลวัดเป็นถังน้ำดื่มที่วางอยู่ติดกัน ก็แล้วกัน ราคารับซื้อแพงไม่ใช่เล่น โลละสามหมื่นห้าพันกีบลาว หรือประมาณ 130 บาทไทย

Wednesday, May 5, 2010

ล่องน้ำอู (Nam Ou Boat Trip)

อยู่พงสาลีได้สองวันก็ตัดสินใจจะเพิ่มบรรยากาศท้าทายให้กับการเดินทางซักหน่อย ด้วยการล่อง “น้ำอู” หรือ Nam Ou river ที่ไม่ใช่ล่องกันได้ง่ายนัก เพราะช่วงหลังมาน้ำน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าไปไม่ตรงกับหน้าน้ำก็อาจเดินทางไม่ได้ และกว่าเรือจะออกต้องรอผู้โดยสารให้ครบ ไม่งั้นก็ไม่ออกเรือ มีหลายคนรอหลายวันกว่าจะได้ไป



ท้าทายคือถ้าทำสำเร็จ ก็จะโดยสารเรือเป็นช่วงๆ ลงมาระยะทางหลายร้อยกิโล ผ่านป่าเขา จากเมืองพงสาลีที่อยู่เหนือสุดมาที่ “ปากอู” ที่มาบรรจบกับน้ำโขงตรงเหนือเมืองหลวงพระบาง

จากพงสาลี ต้องไปขึ้นท่ารถไปหาดสา (hat sa) ที่อยู่บนเนินทางไปภูฟ้า จากนั้นวิ่งไปอีกยี่สิบกิโล ลงเขาผ่านป่า ไปที่ Hat Sa ขึ้นเรือรอบสิบ หรือสิบเอ็ดโมง ปัญหามีอยู่ว่า ไม่มีอะไรคอนเฟิร์มได้เลยว่าเรือจะออกได้หรือไม่ เพราะถ้าคนไม่พอ ก็ไม่คุ้มค่าน้ำมัน แต่โชคยังดี ที่ออกจนได้ในที่สุด หลังจากต่อรองกันเหนื่อยเล็กน้อย





ในรูปเป็นท่าเรือหาดสา มองจากน้ำอูขึ้นไป ส่วนอีกรูปเป็นบรรยากาศเรือที่วิ่งฝ่าน้ำเชี่ยว ตามแก่งเป็นระยะๆ ไปตลอดทางสู่เมืองเมืองขวัว Muang Khua ที่เป็นชุมทางของการเดินทางสู่เวียดนามทางเดียนเบียนฟู

บลิกานขายน้ำก้อนอานาไม




ภาษาลาวเรียนไม่น่ายาก ทำไมคนไทยไม่เรียนรู้กันนะ ผมกำลังเรียนอยู่ด้วยตนเอง ผิดถูกอย่างไรโปรดให้อภัย มาเรียนด้วยกันดีกว่า

ที่นี้ บลิกาน:
ขายน้ำก้อน
อานาไม

มาดูป้ายกัน คำว่า บลิกาน ใช้แบบนี้เพราะภาษาลาว ไม่มี ร เรือ ซึ่งอันที่จริงเป็นส่วนที่ภาษาไทยมีเพราะรับมาจากเขมร ผมว่า ไอ้ที่เด็กนักเรียนทั่วประเทศออกเสียง รอ เรือ กันไม่ได้เพราะ ภาษาตระกูล ไต-ไท-ลาว ไม่มีเสียงนี้ในตัวภาษามาแต่ไหนแต่ไร ตัว ร จะออกเป็น เสียง ฮ เช่น เรือนพัก ภาษาลาวคือ เฮือนพัก

ลองออกเสียงตัว ร กับ ฮ เทียบกันในปากดูสิครับ ตำแหน่งออกเสียงของสองตัวนี้ใกล้กันมาก ต่างแค่ ร เรือ ต้องกระดกลิ้น ดังนั้นการเน้น ร เรือ เป้นการฝืนธรรมชาติภาษา ก็เลยไม่แปลกเลยที่คนไทยออกเสียงไม่ได้ซักที นี่เป็นมุมมองของภาษาศาสตร์นะครับ

น้ำก้อน ก็คือ น้ำแข็ง จะไปเที่ยวลาว ขอน้ำแข็งต้องบอกน้ำก้อนนะคับ

อานาไม คือ อนามัย

สังเกตว่า ตัวที่เหมือน ม ม้า ในภาษาไทย ก็คือ ตัว น หนู ต่างกันตรงไหนล่ะ..... ดูที่ น หนูลาว จะมีหัวกลมด้านบน (ดูคำว่า น้ำก้อน) ส่วน ไอ้ที่เป็น ม ม้าลาวจริงๆ นั้น ให้ดูที่คำว่า อานาไม ในภาพ คำว่า ไม ตัว ม ม้าลาว หัวกลมจะอยู่ที่ด้านล่าง แต่ด้านบนไม่มีหัวกลม

ดูรูปประกอบแล้วจะเข้าใจครับ จำหลักง่าย ๆ เวลาเห็นภาษาลาวแล้วเจอตัวที่หน้าตาเหมือน ม ม้า บ้านเรา นั่นละครับ ให้ระวังว่าอาจจะเป็น น หนูลาว ก็ได้

สรุปที่เรียนรู้จากป้ายนี้
น หนูลาว = หัวอยู่บน
ม ม้าลาว = หัวอยู่ล่าง

ขันโตกเปลี่ยนไป




ชีวิตในเมืองภูเขาพอแดดออกต้องรีบตากข้าวของ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่หมอกกับฝนจะมา แถวลาวเหนือตอนนี้ที่ฮิตกันมากคือ อุปกรณ์ตั้งกินข้าวที่แถวเมืองเชียงใหม่เขาเรียกกันว่า “ขันโตก” (ตั้งจานกับข้าวกับพื้นมันก้มหยิบยากคับ ต้องมีแท่นอะไรตั้งสูงขึ้นมาหน่อยถึงจะสะดวกมือคว้า) แถวนี้ไม่รู้เรียกว่าอะไร แต่เกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ล่าสุดที่นิยมกันมาก คือ “ขันโตกอลูมิเนียม” มีร้านขาย มีพ่อค้าเร่ขายไปทั่ว ดูแล้วก็น่าสะดวกดี เช็ดล้างทำความสะอาดง่ายกว่าของเดิมที่ทำจากหวาย แต่คงไม่สวยคลาสสิคเท่าพวกขันโตกไม้หวายแท้ๆแน่นอน

ถึงอาจไม่ชอบนัก บางครั้ง ความเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงเวลาก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

Tuesday, May 4, 2010

สายไฟในเงาตะวันลับ





แสงไฟกลายเป็นเครื่องหมายของความศรีวิไล ช่วงชิงและเอาชนะธรรมชาติที่เคยกำหนดให้คนเราต้องนอน หรืออยู่กับที่ไปไหนไม่ได้ เพราะความมืดรอบข้าง กองไฟถูกก่อ จากฟืนเป็น ถ่าน สู่ ตะเกียงน้ำมัน แม้แต่ก๊าส ในยุคของไฟฟ้า สายไฟก็ระโยงระยางไปทุกที่แม้ในเมืองที่ห่างไกลที่สุดของลาวอย่างพงสาลี ระบบไฟที่นี่ยังใหม่เพราะเป็นแขวงสุดท้ายในลาวที่มีไฟฟ้าถึงเมื่อสิบกว่าปีก่อนมานี้เอง

เงยหน้าย้อนแสงสุดท้าย ใยแมงมุมของสังคมมนุษย์ทอดสายไขว้ไปมาตัดกับฟ้าสีอมชมพู เงียบสงบ....

บ่อนมีอยู่ทุกหนแห่ง



จะเล่าให้ฟังว่า... ลาวมีบ่อนอยู่ทุกที่ แต่มีคาสิโนใหญ่ๆ อยู่ไม่กี่แห่ง เช่น ที่รีสอร์ทเขื่อนน้ำงึม หรือที่สะหวันเขต ตรงข้ามจังหวัดมุกดาหาร ที่ทำอย่างใหญ่โต

ฟังแบบนี้อาจงง เพราะทุกวันที่เที่ยวลาวผมก็ไปบ่อน ไม่ได้ไปเล่นอะไร เหตุเพราะคำภาษาลาว “บ่อน” คือ “ที่” หรือ “สถานที่” และก้อไม่ใช่เรื่องตลกด้วย เพราะนี่เป็นคำตระกูลไทย-ลาวแท้ๆ มาสมัยหลังค่อยเปลี่ยนความหมายในภาษาราชการไทยกลายเป็นที่เล่นพนันไปเสียนี่ ผมว่าอาจจะมาจากคำเดิมที่ใช้ว่า “บ่อนพนัน” ในความหมายว่าคือ “ที่ๆ มีการพนัน” หรือ “บ่อนเล่น” ที่มีการเล่นพนัน มั้ง คำเลยกร่อนทอนเหลือแค่ “บ่อน” ทั้งๆ คำนี้ คือ “ที่” ธรรมดานี่เอง

ใครรู้เรื่องนี้ก็รบกวนช่วยเม้นมาบอกกัน ว่าเรื่องราวมันเป็นยังไง

ภาพข้างบนเก็บมาจากข้างรถโดยสารประจำทางลาว สายจากอุดมไซไปหัวพัน เห็นเลยว่าใช้ “บ่อนนั่ง” ความหมายเดียวกับ “ที่นั่ง”
ไม่มีอะไรแปลกพิสดารอะไร

สำหรับใครที่เว้าอีสานเป็น ประโยคยอดนิยมที่ถามว่า “ที่ไหน” ที่แถวบ้านเราจะถามว่า “หม่องใด๋” หรืออะไรประมาณนี้ พอข้ามน้ำโขง(น้ำของ –ภาษาลาว) เขาจะนิยมใช้ว่า “บ่อนใด๋” มากกว่า

จุดสว่างบนถนนสายมืด




กลับจากกินข้าว ถนนในตลาดพงสาลีมืดสนิท เหลือแต่ไฟบางดวงสว่างอยู่หน้าร้าน บรรยากาศตรงหน้าเหมือนภาพตลาดเก่าตามอำเภอไกลๆ ในอดีต บอกตามตรง ผมนึกถึงหนังสือเรื่อง "อยู่กับก๋ง" ของ หยกบูรพา ขึ้นมาในใจ

ถ้าใครที่แสวงหาวันเวลาแห่งอดีตให้หวนกลับมาชั่วขณะ อย่างตลาดสามชุก อัมพวา ลองหาโอกาสมาเที่ยวลาว เหมือนนั่งไทม์แมชชีนกลับไปไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนไม่มีผิด

ถนนหิน คูน้ำไหล กองไม้ฟืน -Phongsali old town




เผลอนิดเดียวก็เลี้ยวเข้าซอยเล็กๆ ขึ้นเนิน ลัดเลาะแล้วก็โผล่เข้าที่ย่านเมืองเก่าในพงสาลี ให้บรรยากาศวันวานย้อนยุคแบบสุดคลาสสิค
เพราะตรงหน้าคือ ถนนปูด้วยก้อนหิน ข้างๆ มีคูน้ำไหลลงมาจากยอดเนิน สุดท้ายคือ กองฟืน ที่เริ่มเป็นภาพหาดูยากเข้าทุกที

ภาพแบบนี้อาจไม่คลาสสิคเท่าแถว ลี่เจียง ในยูนนาน (แต่ที่โน่นตอนหลังชักจะเฟกหนัก) แต่ยังไงก็สะท้อนความชุ่มฉ่ำของแถวนี้ที่หมอกกับฝนปนกันมาทักทายทุกเช้าและบ่าย ยิ่งตอนหลังเที่ยง ทันทีที่หมอกหนาปลิวลมมาคลุมเมือง ซักพักฝนก็ตามมากระหน่ำอีกที

แบคแพคตัวจริง




พงสาลีเป็นเมืองภูเขา อากาศเย็นดี แต่ไปไหนมาไหนรู้สึกเหมือนเดินขึ้นเนินอยู่ตลอดเวลา ตอนที่ยืนอยู่บนระเบียงเกสต์เฮาส์ ที่อยู่บนเนิน มองลงมาก็สะดุดตากับ “เป้หลัง” ที่ไม่เหมือนใคร

เรื่องเป้ จะเรียก “แบคแพค” หรือ “แบ็คแพ็ค” แล้วแต่จะสะกดกันในภาษาไทย อาจมองดูเป็นเรื่องของฝรั่งมากกว่าใกล้ตัวแถวเอเชียบ้านเรา หารู้ไม่ว่า จริงๆ แล้วนับตั้งแต่ชาวเขาในไทย ลาวเวียดนาม ขึ้นไปจนถึง มณฑลยูนนาน กวางสี เสฉวน ในจีน เรื่องของเป้หลัง กับสายสะพายนี่เป็นเรื่องธรรมดาและธรรมชาติมากของคนแถวนี้ เพราะง่ายที่สุด รับน้ำหนักขนได้สบายตัวที่สุด เพราะน้ำหนักบนหลังจะไม่กดบนบ่า แต่ถ่ายลงไปที่สะโพก และโคนขาที่มีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่สุดแข็งแรงที่สุดของร่างกาย (ลองดูครับ เป้พวกนี้ไม่ได้หนักอย่างที่คิดเวลาเอาขึ้นหลังแล้ว)

ไม่มีเป้ดีๆ แต่ชีวิตที่ต้องทำงาน ขนของ ฯลฯ ถ้าต้องรับน้ำหนักมากๆ ชนกลุ่มน้อยในย่านนี้ก็ได้พัฒนาวิธีการต่างๆ กันที่จะช่วยให้ภาระหนักเบาขึ้น เช่นสายคาดหัว หรืออะไรต่างๆ แต่ล่าสุดที่มาเจอใน พงสาลี ที่ลาว นี่จัดว่าสุดยอดไอเดียจริงๆ เพราะเป้ชาวเขา หรืออะไรพวกนี้มักมีจุดอ่อนที่สายสะพายจะเล็ก แคบทำให้กระจายน้ำหนักได้ยาก

มาดูนี่เลยครับ แถวพงสาลีเขาเอาไม้มาสอดสายสะพายอีกที ทำให้น้ำหนักของกระจายลงทั่วแผนไม้ ไม่กดทับเฉพพาะที่ใดที่นึงให้เจ็บบ่า ไอเดียเหลือร้าย

ขอคารวะ... เมื่อไหร่ ยี่ห้อNorth Face จะมีเป้หลังรุ่นนี้ออกมาบ้างนะ

Sunday, May 2, 2010

โบร์ชัวร์พงสาลี (Phongsali - Laos Top End) ไม่ใช่ "ผึ้งสาลี"นะ




นอกจากสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1430 เมตรแล้ว (สูงกว่าหลังแป หรือศูนย์วังกวางบนภูกระดึง ราวๆ ซัก 200 เมตร) เมืองนี้ยังเป็นเมืองขนาดกลางแห่งสุดท้ายที่อยู่เหนือสุดของลาว ลองมองในโบร์ชัวร์ที่ถ่ายปกมาให้ดู จะเห็นแผนที่แขวงแรเงาไว้เป็นสีดำอยู่เหนือสุดของปะเทดลาว แถมในนั้นยังมีข้อความเขียนไว้อีกว่า…

Congratulations!

You have reached the remotest Lao PDR province far in the North.Yet the journey up here by bus,boat or plane is an adventure in itself.

พอจะแปลเป็นภาษาไทยแบบเก็บความได้ดังนี้ :

ยินดีด้วยจ้า!

คุณได้มาถึงจังหวัดที่ห่างไกลที่สุดทางเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และอันที่จริงแล้วลำพังแค่การเดินทางขึ้นมาถึงที่นี่ ไม่ว่าจะด้วยรถบัส เรือ หรือแม้แต่เครื่องบิน ก็จัดว่าเป็นการผจญภัยในตัวอยู่แล้ว


อืมม์ ก็จริงของฝรั่งมัน นั่งรถมาก็สาหัสไม่เบา สิบกว่าชั่วโมง (เครื่องบินถ้าอากาศปิด หมอกลงจัดก็ลงไม่ได้) แต่ที่ผมชอบจริงๆ ของเมืองนี้ก็คือ ชื่อตัวเขียนภาษาลาว ที่อ่านไปอ่านมาดูเหมือน “ผึ้งสาลี” ในภาษาไทยบ้านเรา

พูดถึงเรือก็น่าสนใจ ขากลับวางแผนว่า ฝนต้นฤดูที่กระหน่ำกันทุกบ่ายในตอนนี้ ถ้าตกมามากพอที่น้ำอู (Nam Ou ) จะคืนชีวิตลึกพอที่มีเรือขึ้นล่องได้อีกอาจจะล่องเรือจากที่นี่ลงใต้ ไป Muang Khoua แล้วต่อรถไปเดียนเบียนฟู ในเวียดนาม หรือไม่อีกแผนซึ่งกำลังคิดกันคือ ถ้าโอกาสเหมาะ อาจลากยาวตามลำน้ำอู ไปถึงหลวงพะบางเลยก็ดี จะได้ต่อรถไป “ซำเหนือ” อีกที แล้วไปเข้าเวียดแถวด่านนาแมว

จะไปทางไหนดี เดี๋ยวพรุ่งนี้ (ภาษาลาวเรียกว่า “มื้ออื่น”) ถึงถ้าเรือก็รู้ว่าจะมีน้ำท่าพอจะออกทริปได้หรือป่ะ

ข้าวหลามกลางทาง


กลางทางจากเมืองไซ หรือ อุดมไซ ออกรถแต่เช้า กว่าบัสที่นั่งมาจะไปถึงเมืองพงสาลี ที่อยู่ตอนเหนือสุดของลาวได้เล่นเอาเหนื่อย ตกเที่ยงเพิ่งไปถึงแค่ "ปากน้ำน้อย" ที่เป็นทางแยกไปเมืองขวัว หิวขึ้นมาก็ไม่มีอะไรอื่นนอกจากงัดเอาข้าวหลามท่อนน้อยที่ซื้อมาจากเมืองไซพอประทังหิว ยังดีที่มีอะไรตกท้องบ้างเพราะเมื่อคืนวานมาถึงพงสาลีก็เกือบสองทุ่ม (เมืองนี้จะบินมาก็ได้ การบินลาวมีบินจากเวียงจันมาอาทิตย์ละสองเที่ยว แต่บินลงที่สนามบินบุนเหนือ ที่ห่างจากที่พงสาลีไปราว 41 กิโลเมตร)

แบบนี้ข้าวหลามแท้ๆ ครับ ข้าวเหนียวใหม่ ใส่กระทิพอหอม นุ่ม แต่งหวานอีกนิด ไม่ใช่แบบที่เห็นในเมืองไทยแถวหนองมน ที่ตอนหลังชักแยกไม่ออกว่าอะไรคือข้าวหลาม อะไรคือ ข้าวเหนียวสังขยา รวมทั้งหวานคอเกินเหตุ ส่วนที่เห็นเป้นสีๆ คิือสีธรรมชาติของข้าวเหนียวครับ ไม่ใช่อะไรอื่นที่สังเคราะห์มา

สังเกตุในรูปว่า ของดั้งเดิมเนี่ย จะมีเยื่อไผ่ติดออกมาเวลาปอกเปลือกออก แบบนี้ไงที่เป็นลักษณะเฉพาะของข้าวหลามแท้ๆ ใช้อย่างอื่นทำรับรองไม่ได้แบบนี้แน่นอน

อีกอย่างที่น่าสนใจ ผมเคยไปเจอข้ามหลามในฝั่งเวียดนาม แถวจังหวัดหลาวกาย(Lao Cai) เขาก็เรียกว่า "เกิมลาม" คำว่า "เกิม" คือข้าวสุก น่าสนใจว่ามันเกี่ยวข้องกันยังไง ใครรับจากใคร อีกอย่าง เวียดทางเหนือ มีคนไทดำ ไทขาว อยู่เป็นล้าน เป็นเชื้อสายเดิมมาจากดินแดนที่เรียกว่า "สิบสองจุไทย"

Saturday, May 1, 2010

จุดจบแวมไพร์ !





ไปไหนก็ต้องแวะชมตลาดซักหน่อย ไม่ได้เดินตลาดเหมือนไม่รู้จักจริงๆ ว่าเมืองนั้นมีอะไร หรือแตกต่างยังไงจากที่อื่น หลังจากเช่าจักรยาน ถามไถ่เส้นทางไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็เจอของดีในตลาดเข้าอย่างแรงสมความตั้งใจ


มองกราดผ่านแผงแม่ค้าไปเห็นสาวรายนึงกำลังนั่งขายตัวอะไรบางอย่างสีดำๆ เทาๆ ปรากฎว่า เป็น ค้างคาวตัวย่อมๆ ร้อยกันเป็นพวง สำหรับผู้ชื่นชอบเปิบพิสดาร เอากลับไปปรุงมื้อเย็น แต่ที่ก็เป็นเรื่องธรรมดา อันที่จริงแล้ว ก็ไช่ว่าคนแถวนี้เขาจะชอบทานกัน เพราะเย็นจนจะมืดแล้ว ยังดูท่าทีขายไม่ค่อยได้เลย

ปีก่อนที่วังเวียง ตรงตลาดเย็นหน้าวัดก็เคยเจอ “หมกค้างคาว” มาแล้ว ท่าทางน่าอร่อยลิ้นเหมือนกัน แต่จะให้ทำใจทดลองความอร่อยนั้นคงต้องคิดหนักหน่อย

งานนี้ไม่ว่า "แวมไพร์" หรือ "แบตแมน" จะแน่มาจากไหน เสร็จพี่น้องชาวลาวหมด อิอิ